Friday, December 30, 2011

หลักการของ Deming

ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถบอกได้ว่า ใครเป็นผู้ให้กำเนิด TQM อย่างแท้จริง เพราะ TQM มีพัฒนาการที่ต่อเนื่องและซับซ้อน หรือเรียกได้ว่าสับสน คาบเกี่ยวกับสหสาขาวิชาทั้งเทคนิคเชิงปริมาณ และวิธีการเชิงคุณภาพ อย่างไรก็ดีเราทุกคนต่างยอมรับว่า ดร. Deming เป็นทั้งนักวิชาการและที่ปรึกษาที่นำ TQM มาใช้อย่างเป็นรูปธรรมในทุกระดับ และได้รับการยอมรับในหลายประเทศ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่เคยเรียกวิธีการของเขาว่า TQM อย่างนักวิชาการท่านอื่น ๆ โดย ดร. Deming เสนอหลักการสำคัญ หรือพันธะ (Obligations) ในการจัดการคุณภาพรวม 14 ข้อ ดังนี้

1) สร้างปณิธานที่มุ่งมั่นในการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าหรือบริการ (Constancy of Purpose) ผู้บริหารจะต้องมีความมุ่งมั่น และทุ่มเทในการพัฒนาคุณภาพ โดยกำหนดแผนการดำเนินงานทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งจะพิสูจน์ความตั้งใจ อดทน และไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว

2) ยอมรับปรัชญาการบริหารคุณภาพใหม่ ๆ (Adopt the New Philosophy) ที่เปลี่ยนแปลง และก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยผู้บริหารต้องสร้าง “วัฒนธรรมคุณภาพและการเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง” ให้เกิดขึ้นกับสมาชิกทุกคนและในทุกระดับขององค์การ

3) ยุติการควบคุมคุณภาพโดยอาศัยการตรวจสอบ (Cease Dependence on Mass Inspection) เพียงด้านเดียวที่ให้ความสำคัญกับการควบคุมกระบวนการผลิต และสินค้า/บริการให้ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งไม่ได้เป็นการดำเนินงานในเชิงรุกที่ป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด โดยการควบคุมและประกันคุณภาพจะแก้ไขที่ปลายเหตุเท่านั้น

4) ยุติการดำเนินธุรกิจโดยการตัดสินกันที่ราคาขายเพียงอย่างเดียว (End the Practice of Awarding) เพราะราคาขายจะไม่มีความหมายต่ออนาคตของธุรกิจ ถ้าไม่สามารถพัฒนาคุณภาพให้ก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ธุรกิจที่แข่งขันกันลดราคา ทำสงครามราคา จนสุดท้ายต่างจะล้มเหลวในการดำเนินงานและไม่สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว

5) ปรับปรุงระบบการผลิตและระบบการให้บริการอย่างต่อเนื่อง (Continual Improvement) โดยใช้วงล้อ PDCA เป็นเครื่องผลักดันองค์การให้หมุนไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้าอย่างสม่ำเสมอ และไม่หยุดยั้ง

6) ทำการฝึกอบรมทักษะ (Training for a Skill) ในการทำงานและการจัดการคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยการทำงานให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้นจัดทำการควบคุมคุณภาพเชิงสถิติ และใช้เครื่องมือการควบคุมคุณภาพต่าง ๆ เพื่อให้วัฒนธรรมคุณภาพแทรกเข้าสู่การดำเนินงานทุกขั้นตอนอย่างเป็นธรรมชาติ

7) สร้างภาวะผู้นำให้เกิดขึ้น (Leadership) กับสมาชิกทุกคนในองค์การ โดยต่างจะเป็นผู้นำและกล้าที่จะรับผิดชอบในการตัดสินใจ ในการกระทำของตนและกลุ่ม

8) กำจัดความกลัวให้หมดไป (Drive Out Fear) เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างองค์การคุณภาพ โดยส่งเสริมความกล้าถาม กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าปฏิบัติ และกล้ายอมรับในความผิดพลาด ในทุกระดับของธุรกิจ

9) ทำลายสิ่งที่กีดขวางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ (Break Down Barriers) โดยส่งเสริมการประสานงาน และช่วยเหลือกันข้ามสายงาน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา และบรรลุเป้าหมายในการส่งมอบสินค้า หรือบริการที่มีคุณภาพแก่ลูกค้า

10) ยกเลิกคำขวัญ คติพจน์ และเป้าหมายที่ตั้งตามอำเภอใจ (Eliminate Slogans, Exhortations, Arbitrary Targets) โดยเฉพาะที่เขียนขึ้นมาอย่างขอไปที แต่ไม่เกิดขึ้นจากความเข้าใจในปรัชญาของคุณภาพ ซึ่งทำให้ข้อความที่กำหนดไร้เป้าหมายที่เป็นรูปธรรม ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

11) ยกเลิกการกำหนดจำนวนโควตาที่เป็นตัวเลข (Eliminate Numerical Quotas) ในการประเมินผลงานด้านปริมาณเพียงด้านเดียว เพราะพนักงานจะทำงานเพื่อเป้าหมายเท่านั้น แต่จะต้องวัดคุณภาพอย่างชัดเจน โปร่งใส และตรวจสอบได้

12) ยกเลิกสิ่งกีดขวางความภาคภูมิใจของพนักงาน (Remove Barriers to Pride of Workmanship) โดยส่งเสริมให้พนักงานเกิดความภาคภูมิใจในผลงานและความสำเร็จของตน ซึ่งมีส่วนผลักดันให้เขาและองค์การประสบความสำเร็จร่วมกัน

13) การศึกษาและการเจริญเติบโต (Education and Growth) เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเทคโนโลยีในการผลิต เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคนิคการบริหารงานสมัยใหม่ ตลอดจนให้ความสำคัญกับทุนมนุษย์ (Human Capital) ที่เป็นสินทรัพย์สำคัญที่สุดของทุกธุรกิจ

14) ลงมือปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลง (Take Action to Accomplish the Transformation) ดำเนินการให้เป็นผลที่เป็นรูปธรรม และต่อเนื่องในระยะยาว ไม่ใช่การดำเนินงานเฉพาะหน้าในการแก้ไขปัญหาเล็กน้อยเท่านั้น โดยผู้บริหารต้องเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์ และผลักดันการดำเนินงานด้านคุณภาพ โดยเป็นผู้นำ ต้นแบบ และผู้สนับสนุนการดำเนินงานคุณภาพอย่างสมบูรณ์

เราจะเห็นว่า หลักการทั้ง 14 ข้อของ ดร. Deming นั้น จะไม่จำกัดตัวอยู่ในการสร้างสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่จะขยายตัวครอบคลุมการดำเนินงานขององค์การอย่างทั่วถึง โดยจะเสริมสร้างและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจ ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักการของ TQM ที่ให้ความสำคัญกับลูกค้า การดำเนินงานต้องสามารถตอบสนองความต้องของลูกค้าอย่างถูกต้องและเหมาะสม ส่งผลให้องค์การสามารถพัฒนาตนเอง โดยได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งในรูปแบบที่เป็นตัวเงิน และไม่เป็นตัวเงินสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright Define Total Quality Management All Rights Reserved