Friday, December 30, 2011

ผลิตภาพกับความได้เปรียบในการแข่งขัน





ตารางที่ 1-1 และ 1-2 แสดงและเปรียบเทียบผลิตภาพของแต่ละประเทศ ซึ่งจะสะท้อนให้เราเห็นว่าผลิตภาพมีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันและอนาคตของทุกประเทศ ประเทศที่มีผลิตภาพสูงจะมีแนวโน้มที่จะพัฒนาและก้าวหน้าเร็วกว่าประเทศที่ผลิตภาพต่ำกว่า ซึ่งจะมีลักษณะเช่นเดียวกันกับการดำเนินงานของทุกธุรกิจ ที่ต้องพยายามพัฒนาผลิตภาพของตนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้องค์การสามารถดำรงอยู่อย่างยั่งยืน และธำรงรักษาศักยภาพในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า แข่งขันในการเรียนรู้ (A Race to Learn) โดยเราอาจจะกล่าวได้ว่า ผลิตภาพจะเป็นพื้นฐานของความได้เปรียบในการแข่งขันของทุกองค์การ

เราสามารถกล่าวได้ว่า ผลิตภาพเป็นอัตราส่วนระหว่างผลลัพธ์ (Outputs) ที่ได้จากกระบวนการผลิตกับปัจจัยนำเข้า (Inputs) ที่ถูกใช้ไปในการผลิต เช่น เงินทุน วัตถุดิบ แรงงาน ความรู้ เทคโนโลยี และต้นทุนการผลิตอื่น ๆ เพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ในปริมาณและคุณภาพตามที่กำหนด ปกติเราสามารถวัดผลิตภาพจากอัตราส่วนของผลลัพธ์ต่อปัจจัยนำเข้า เช่น จำนวนคน เครื่องจักร และเงินทุน เป็นต้น หรือที่เรียกว่า การวัดผลิตภาพย่อย (Partial Productivity) ซึ่งมักจะมีความเฉพาะเจาะจงตามปัจจัยการผลิตที่นำมาประเมิน อาทิ ผลิตภาพของแรงงาน (Labor Productivity) ผลิตภาพของวัตถุดิบ (Material Productivity) หรือผลิตภาพของเงินทุน (Capital Productivity) เป็นต้น นอกจากนี้เรายังสามารถวัด ผลิตภาพรวมขององค์การ ซึ่งจะแสดงภาพของความสามารถในการดำเนินงานของธุรกิจ เนื่องจากผลิตภาพมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องต่าง ๆ ในการดำเนินงานขององค์การ ดังนั้นเราสมควรมีความเข้าใจในความหมายของคำต่าง ๆ ได้แก่

1. กำลังการผลิตหรือความสามารถในการดำเนินงาน (Capacity)
เป็นอัตราการผลิตหรือให้บริการสูงสุดของกระบวนการ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในการดำเนินงาน โดยที่ทุก ๆ ธุรกิจจะต้องกำหนดให้กำลังการผลิตของตนอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยกำลังการผลิตต้องไม่มากเกินไป จนทำให้ค่าโสหุ้ย (Overhead) ในการผลิตและการดำเนินงานสูง และไม่น้อยเกินไปจนกระทั่งเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) แก่ธุรกิจ

2. ประสิทธิผล (Effectiveness)
เป็นการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย หรือได้ผลลัพธ์ตามที่เราต้องการ ซึ่งเราจะวัดจากเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดขึ้น เช่น ยอดขาย การเพิ่มส่วนแบ่งตลาด หรือการลดลงของโรคติดต่อ เป็นต้น ซึ่งเราอาจจะกล่าวว่า ประสิทธิผลเป็นความต้องการเบื้องต้นของทุกองค์การ

3. ประสิทธิภาพ (Efficiency)

เป็นการวัดความสามารถในการดำเนินงานให้ถึงเป้าหมาย โดยใช้ทรัพยากร (Resources) และแรงพยายาม (Efforts) อย่างคุ้มค่า ซึ่งจะวัดด้วยอัตราส่วนของผลลัพธ์ (Outputs) ต่อปัจจัยนำเข้า (Inputs) ในการดำเนินงาน การแข่งขันของโลกธุรกิจในปัจจุบัน ทำให้องค์การต่าง ๆ จำเป็นที่จะต้องทำงานของตนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยสามารถผลิตสินค้าหรือบริการได้ตามจำนวนที่ต้องการ ขณะเดียวกันก็ใช้ปัจจัยการผลิตให้น้อยที่สุด ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้เกิดขึ้นแก่องค์การ

เราจะเห็นว่า ประสิทธิภาพและผลิตภาพจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เพียงแต่เรานิยมประเมินประสิทธิภาพจากระบบการผลิตและการดำเนินงานของธุรกิจ โดยเฉพาะประสิทธิภาพของเครื่องจักร หรือแรงงาน แต่เรามักจะพิจารณาผลิตภาพในมุมมองที่กว้างขวางกว่า โดยพิจารณาจากองค์รวมของระบบ และศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องในหลายมิติ อย่างไรก็ดีหากธุรกิจสามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะนำไปสู่ผลิตภาพในการผลิตที่สูงขึ้น นอกจากนี้เรายังอาจจะวัดผลิตภาพได้จากอัตราส่วนระหว่างประสิทธิภาพและประสิทธิผลของธุรกิจ

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright Define Total Quality Management All Rights Reserved