Friday, December 30, 2011

การกำหนดวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และการวางแผนคุณภาพ

การสร้างคุณภาพในเชิงบูรณาการ จะต้องเริ่มต้นจากการกำหนดกลยุทธ์และแผนคุณภาพ ที่สามารถแทรกตัวเข้ากับวิสัยทัศน์ การดำเนินงาน และวัฒนธรรมขององค์การอย่างเหมาะสม โดยผู้บริหารเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการสร้าง “วิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision)” ขององค์การ ซึ่งมีความหมายว่า วิสัยทัศน์ที่ทุกคนมีส่วนร่วมรับรู้และสำนึกในวิสัยทัศน์ ไม่ใช่ต่างคนต่างสร้างฝันตามทางของตน หรือแต่ละฝ่ายต่างสร้างดาวกันคนละดวง โดยแต่ละหน่วยงานต่างกำหนดวิสัยทัศน์ของตน แต่สุดท้ายองค์การก็ไปได้ไม่ถึงไหน เพราะแต่ละฝ่ายมัวแต่เถียงกันว่า วิสัยทัศน์หรือดาวของใครจะดีกว่ากัน และแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่องค์การจะเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนต่างกำหนดวิสัยทัศน์ของตนเอง แล้วนำมาสร้างวิสัยทัศน์ขององค์การ เพราะจะทำให้เสียเวลาและไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย แต่ฝ่ายบริหารสมควรจะรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น และกำหนดวิสัยทัศน์ แล้วนำเสนอและชักจูงให้สมาชิกเกิดความเข้าใจ ยอมรับและนำไปปฏิบัติด้วยความเต็มใจ โดยที่การกำหนดวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และการวางแผนคุณภาพจะประกอบด้วยขั้นตอนต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1 วิเคราะห์สถานะด้านคุณภาพขององค์การ
ขั้นตอนที่ 2 กำหนดวิสัยทัศน์คุณภาพ
ขั้นตอนที่ 3 กำหนดภารกิจ วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ด้านคุณภาพ
ขั้นตอนที่ 4 กำหนดแผนปฏิบัติการด้านคุณภาพ

สุดท้ายผู้เขียนอยากจะฝากข้อความไว้เป็นเครื่องเตือนในผู้อ่านว่า “การมีวิสัยทัศน์แต่ไม่นำมาปฏิบัติก็เป็นแค่ความฝัน (Vision without action is merely a dream)” ซึ่งคำพูดของ Joel Barker นี้ เป็นประโยคที่มีความหมายมาก ไม่เฉพาะแต่การวางแผนคุณภาพ แต่รวมถึงการกำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ขององค์การ เพราะวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และแผนงานที่ดี มีประโยชน์ต่อองค์การนั้น จะต้องผ่านการทดสอบ และมีความกล้าในการนำไปปฏิบัติ ไม่ใช่เสียเวลา และแรงงานในการงานแผนอย่างเลิศหรู แต่กลับวาง Plan นิ่งอยู่ในตู้เอกสาร หรือแฟ้มของผู้บริหารเท่านั้น

0 comments:

Post a Comment

 
Copyright Define Total Quality Management All Rights Reserved